“โรคมือ เท้า ปาก” เกิดจากอะไร?
โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ซึ่งสามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก
- อาการของโรค มือ เท้า ปาก
เด็กๆ ที่เป็นโรคมือเท้าปาก จะมีอาการ มีไข้ อ่อนเพลีย, มีแผลในปาก, ผื่นเป็นจุดแดงขึ้นที่มือ เท้า (อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาร่วมด้วย) เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการโดยมีอาการเริ่มต้น คือ เด็กจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน
- โรคมือ เท้า ปาก รักษากี่วันหาย?
โรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรงได้ เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจอักเสบ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสสายพันธุ์ 71 (EV71) ทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรฝ้าสังเกตอาการที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีไข้สูง, ซึม, อ่อนแรง, มือสั่น, เดินเซ, อาเจียน, หายใจหืดหอบ, กล้ามเนื้อกระตุก และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน (อาการแทรกซ้อนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า)
- โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อได้อย่างไร?
โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และจากการสัมผัสทางอ้อมผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำ และอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยส่วนใหญ่มักพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก
โรคมือ เท้า ปาก สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม
- มีวิธีการรักษา และป้องกันอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว อาการโรค มือ เท้า ปาก จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อย่างที่ทราบกันว่าโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆ