การเดินทางให้สนุกและปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องนึกถึง ก็คือการเตรียมความพร้อมให้กับรถยนต์คู่ใจที่จะขับขี่พาคุณไปยังจุดหมายได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับถิ่นฐานเดิมในต่างจังหวัด
ด้วยเพราะคุณเองคงไม่อยากมานั่งกุมขมับเมื่อรถยนต์เกิดเสียกลางคัน หรืออาจเกิดอุบัติเหตุไม่ทันตั้งตัว จึงควรนำรถยนต์เข้าตรวจเช็กสภาพรถ หรือตรวจด้วยตัวเองก่อนการเดินทางไกลทุกครั้ง เทคนิคง่าย ๆ ที่ใครก็ทำได้หากใส่ใจเรียนรู้
อีกทั้ง สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2556 มีผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนเสียชีวิตทั้งสิ้น 321 ราย บาดเจ็บถึง 3,040 ราย เป็นการการันตีถึงอันตรายในการเดินทางช่วงหยุดยาว และที่น่าห่วงคือในจำนวนที่กล่าวข้างต้น มีผู้ทำประกันชีวิตไว้เพียง 76 ราย คิดเป็น 24% ของจำนวนผู้เสียชีวิตเท่านั้น ซึ่งยังมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีความคุ้มครองจากประกันชีวิต
โดยจะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ก่อนเดินทางไกลแล้ว สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม นั่นคือ “กรมธรรม์ประกันภัย”
หลายต่อหลายคนคงเกิดคำถามว่า ประกันภัยสำคัญอย่างไร, ต่อ พ.ร.บ.เพื่ออะไร, ทำไมต้องมี พ.ร.บ. ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับกรมธรรม์ประกันภัย หรือ ประกันภัยรถยนต์ กัน
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องมีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้ หากไม่ทำจะมีความผิดมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากทำแล้วแต่ไม่ติดเครื่องหมายไว้ที่รถให้เห็นชัดเจนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) นี้ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย รวมไปถึงทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น ในกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
เหตุผลดี ๆ ของการมีกรมธรรม์ประกันภัย
1. คุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ ที่ได้รับบาดเจ็บ/เสียชีวิต เพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต
2. เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ
3. เป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุประสบภัยจากรถ
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือนร้อน แก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว
ควรจะมีประกันภัย หรือประกันชีวิต เพื่อความอุ่นใจตลอดการเดินทางช่วงเทศกาล ซึ่งอาจเป็นการซื้อประกันชีวิตแบบสามัญทั่วไป หรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ ส่วนผู้ที่ทำประกันชีวิตไว้แล้ว ควรต่ออายุกรมธรรม์ เนื่องจากหากขาดชำระเบี้ยจะมีผลให้กรมธรรม์ประกันภัยขาดความคุ้มครอง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บ ผู้เอาประกันจะไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมประกันชีวิตจากบริษัทได้ นางบุษรา อึ้งภาภรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิต กล่าวการันตี
ที่มา Kapook