วัยเริ่มต้นทำงานนับว่าเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต จากที่เคยขอเงินคุณพ่อคุณแม่เพื่อใช้จ่าย มาเป็นทำงานสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเอง แน่นอนว่าช่วงเริ่มต้นทำงาน รายได้อาจยังไม่สูงมากนัก และรายได้ส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายประจำวันหรือซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการใช้จ่ายสังสรรค์เพื่อความสนุกสนานกับเพื่อน ส่งผลให้เมื่อกล่าวถึงการทำประกัน หลายคนจะมองว่าการทำประกันทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว การทำประกันเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับหลักประกันหรือความคุ้มครองชีวิตที่ได้รับ แล้วประกันแบบใดบ้างที่เหมาะกับวัยเริ่มต้นทำงาน
แม้ว่าผู้ที่เริ่มต้นทำงาน รายได้อาจไม่สูงนัก แต่หลายคนก็เป็นกำลังของคุณพ่อคุณแม่ในการทำงานหารายได้ หากต้องประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตอย่างเต็มที่แล้ว ก็ไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามท้องถนนที่พบเห็นข่าวการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ อยู่ทุกวัน ยิ่งช่วงเทศกาลอุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นสูง และมักเป็นอุบัติเหตุที่มีความรุนแรง หรือเป็นอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นขณะอยู่บ้าน ที่ทำงาน ทำให้ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือเกิดรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต อาจกระทบต่อฐานะทางการเงินของครอบครัวได้ ดังนั้น การทำประกันอุบัติเหตุ (Personal Accident) จะช่วยบรรเทาภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยผู้เอาประกันสามารถระบุให้คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้รับประโยชน์ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น อย่างน้อยก็มีเงินก้อนทิ้งไว้ให้ท่าน
ประกันอุบัติเหตุมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และเงินรายได้ชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (คนไข้ใน) ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายจะขึ้นอยู่กับวงเงินคุ้มครองหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุที่ต้องจ่ายถือว่าเป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ และโดยทั่วไปประกันอุบัติเหตุจะเป็นประกันแบบปีต่อปี หากปีไหนไม่ต้องการทำประกันก็สามารถหยุดชำระเบี้ยประกันได้
ในช่วงวัยนี้ หลายคนก็เริ่มวางแผนซื้อรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันการเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันหนึ่งดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากไม่ต้องรอเก็บเงินก้อนก็สามารถซื้อรถยนต์แบบเงินผ่อนได้ ทั้งนี้ นอกจากค่าผ่อนรถยนต์ในแต่ละงวดที่ต้องคำนึงถึง การป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยมีโอกาสสร้างความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย รวมถึงทรัพย์สินอย่างรถยนต์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ก็ไม่ได้เป็นจำนวนเงินน้อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อเงินออมที่มีอยู่ การทำประกันภัยรถยนต์จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
ประกันภัยรถยนต์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือที่รู้จักกันว่า ประกัน พ.ร.บ. เป็นประกันภัยรถยนต์ที่เจ้าของรถยนต์ทุกคันต้องทำ ซึ่งให้ความคุ้มครองชีวิตและร่างกายของผู้ประสบภัยจากรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้โดยสาร คนเดินถนน ทั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับไม่ได้คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย หรือของคู่กรณี รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมีมูลค่าสูงกว่าวงเงินคุ้มครองที่ได้รับจากประกันภัยภาคบังคับ ดังนั้น หากต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม สามารถทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งมีทั้งแบบที่ให้ความคุ้มครองชีวิต ค่ารักษาพยาบาล และทรัพย์สินของทั้งฝ่ายผู้เอาประกันภัยและฝ่ายคู่กรณี
เมื่อทำงานได้สักระยะหนึ่ง รายได้ที่เริ่มมากขึ้นส่งผลให้มีภาระภาษีมากขึ้นด้วย ควรพิจารณาทำประกันชีวิตเพิ่มเติม โดยแนะนำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และออมเงินระยะยาว โดยทั่วไป บริษัทประกันจะมีการจ่ายผลตอบแทนหรือเงินปันผลเป็นรายงวดให้ผู้เอาประกันระหว่างที่ประกันชีวิตมีผลบังคับ สำหรับทุนประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันในกรณีที่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายให้ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ของกรมธรรม์ สำหรับประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีการจ่ายเงินคืนในแต่ละงวดไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสม ค่าเบี้ยประกันจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท
นอกจากนี้ ผู้ทำประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาแนบท้ายเพื่อรับความคุ้มครองอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าเบี้ยประกันของสัญญาแนบท้ายจะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
แม้ว่าวัยเริ่มต้นทำงานยังมีรายได้ไม่สูงมากนัก แต่การป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันจัดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความคุ้มครองชีวิต และช่วยบรรเทาภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเราเอง อย่างน้อยเงินเอาประกันภัยหรือความคุ้มครองที่ได้รับจากบริษัทประกันจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ในอุปการะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้
ที่มา Kapook