ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หากใครพอจะติดตามข่าวสารแวดวงการลงทุนการเงินอยู่บ้างจะพบว่า การฝากเงินกับธนาคารเพื่อหวังดอกเบี้ยดูเหมือนจะไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดอีกต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันลดต่ำจนเกือบ 0% ยกตัวอย่างง่ายๆ ฝากเงินสัก 100,000 บาทกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ผ่านไป 1 ปี เราเพิ่งจะได้ดอกเบี้ยแค่ 500 บาทเท่านั้น แต่หากลองหันมาศึกษาการฝากเงินหรือลงทุนด้วยวิธีอื่นๆ บ้างสักนิด เงินในบัญชีของเราก็สามารถงอกเงยได้เหมือนฝากออมทรัพย์เหมือนกัน
9 ทางเลือกสำหรับฝากเงิน-ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มๆ
1. ฝากประจำ
เป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ เช่น ฝากประจำราย 12 เดือน ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.3-1.8% ต่อปี ส่วนราย 24 เดือนจะอยู่ระหว่าง 0.95-1.9% โดยเราสามารถเช็คอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย การฝากประจำถือเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงในการขาดทุนน้อยมาก เพราะยังไงเงินต้นเราไม่หายไปไหนแน่นอน
2. เงินฝากปลอดภาษี
คือการฝากเงินเดือนละเท่าๆ กัน ทุกเดือนในระยะเวลาที่เราเลือกไว้ เช่น 24 เดือน 36 เดือน โดยจำนวนเงินฝากที่กำหนดเริ่มต้นเพียง 1,000-25,000 บาท จุดเด่นของเงินฝากประเภทนี้คือ ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีประเภทอื่นถึง 2.25-3% แถมยังไม่ต้องเสียภาษี แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือ เราสามารถเปิดบัญชี (รวมทุกธนาคาร) ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น
3. พันธบัตรรัฐบาล
คือตราสารหนี้ของกระทรวงการคลังที่ออกเพื่อกู้เงินจากภาคประชาชน ซึ่งปกติต้องถือเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี ยิ่งเราถือไว้นานก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยสูง ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยต่ำพอๆ กับเงินฝากเลยทีเดียว
4. สลากออมทรัพย์ (ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสิน)
เป็นการฝากเงินที่นอกจากจะได้ดอกเบี้ยแล้ว ยังอาจมีโชคถูกรางวัลได้อีกด้วย เพียงแต่เราห้ามถอนออกมาก่อนกำหนด ไม่อย่างนั้นจะได้ดอกเบี้ยน้อยลง สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อด้วยเงินก้อนไปเลยแล้วเก็บไว้ให้เกิน 3 ปี หรือค่อยๆ ซื้อเป็นครั้งๆ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ได้จะเปลี่ยนไปตามประเภทของสลาก
5. กองทุนรวมตลาดเงิน
คือการลงทุนในเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ระยะสั้นที่อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี มีความเสี่ยงน้อย แต่กลับให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ หรือพอๆ กับเงินฝากประจำ เราสามารถซื้อ-ขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ ทั้งยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
6. กองทุนรวมตราสารหนี้
ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น ที่อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว และตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งแต่ละแบบก็จะให้ผลตอบแทนต่างกัน การลงทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน เราจึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเวลาลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือการขึ้น-ลงของดอกเบี้ย
7. หุ้นกู้
เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งของเอกชนที่ออกเพื่อกู้เงินของประชาชนไปลงทุน ระยะเวลาในการฝากเริ่มตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี มีทั้งอัตราดอกเบี้ยแบบตายตัวและแบบขั้นบันได ความเสี่ยงของหุ้นกู้ขึ้นอยู่กับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ แต่หุ้นที่มีความน่าเชื่อถือน้อยเกรด BBB- จะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นเกรด AAA เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
8. กองทุนรวม
ได้แก่ กองทุนรวมในประเทศ ต่างประเทศ และสินทรัพย์อย่าง ทองคำ หุ้น น้ำมัน ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างกันไป สำหรับกองทุนรวมที่ได้รับความนิยมสูงก็คือ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเบี้ยงชีพ (RMF) ซึ่ง LTF และ RMF จะเหมาะกับคนที่เสียภาษีเยอะ 15% ขึ้นไปเพราะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ กองทุนรวมถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่โอกาสได้กำไรก็สูงเช่นกัน
9. บัญชีออมหุ้น
คือการเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่รับออมหุ้น เรามีหน้าที่เลือกหุ้นที่อยากลงทุนในระยะยาวไว้และซื้อหุ้นเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน โดยไม่ต้องสนใจราคาหุ้นว่าเป็นเท่าไร วิธีนี้เรียกว่า DCA (Dollar-Cost Averaging) และเหมาะกับนักเล่นหุ้นมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญ เพราะหากราคาหุ้นตก เราจะซื้อหุ้นได้มากขึ้น แต่ถ้าราคาหุ้นสูงขึ้น เราก็จะซื้อได้น้อยลง ดังนั้นหากถือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนหรือเงินปันผลสูง เราก็มีโอกาสได้กำไรดีอยู่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก 9 วิธีด้นบนแล้ว ยังมีทางอื่นที่ให้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคาร เช่น ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรพย์ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ เพียงแต่เราต้องพิจราณาความน่าเชื่อถือของสถาบันเหล่านั้น รวมถึงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนประเภทต่างๆ ให้ดีเสียก่อน เงินที่เราลงทุนจะได้ไม่สูญเปล่า
ขอบคุณที่มาจาก kapook.com