ภูมิแพ้ เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีบิดา มารดา หรือญาติเป็น จะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากกว่าผู้อื่น ซึ่งธรรมชาติของภูมิแพ้คือ คนส่วนมากจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ตั้งแต่เด็กๆ มีบางช่วงที่อาการดีขึ้น และบางช่วงอาการแย่ลง เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นอาจไม่มีอาการของภาวะภูมิแพ้อีก เด็กส่วนมากอาจกลับมามีอาการอีกเมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นหรืออายุประมาณสามสิบกว่าขึ้นไป
อาการของโรคภูมิแพ้
- จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกไหลลงคอ
- เป็นหวัดไม่ยอมหาย ไอ ไซนัสอักเสบบ่อยๆ
- คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อยๆ
- ผื่นคัน ผิวหนังแห้งโดยเฉพาะบริเวณข้อศอก ข้อพับ เข่า และตามลำตัวในเด็ก
- ลมพิษ
- หอบหืด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกร่วมกับไอมาก
- บางท่านอาจแพ้อาหาร หรือแมลงต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
- การทดสอบทางผิวหนัง
วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับอาการได้ดี และยังสามารถทราบผลได้ภายใน 20 นาที นอกจากนี้ผลจากการทดสอบทางผิวหนังยังเป็นสิ่งที่ใช้ในการตัดสินว่าควรจะได้รับวัคซีนภูมิแพ้ชนิดใด วิธีนี้ทำได้โดยหยดสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังและสะกิดผิวหนังชั้นบน (โดยไม่ให้เลือดไหล) เพื่อให้สารก่อภูมิแพ้ถูกดูดซับเข้าในผิวหนัง
- การเจาะเลือดตรวจทางอิมมูโนวิทยา
วิธีนี้ใช้น้อยกว่าวิธีแรก จะใช้ในบางภาวะที่ไม่สามารถทำการทดสอบทางผิวหนังได้ เช่น ในคนที่มีประวัติแพ้รุนแรงถึงช็อก หรือในคนที่มีผื่นมากและไม่มีผิวหนังปกติมากพอที่จะทำการทดสอบทางผิวหนังได้ บางครั้งเมื่อตรวจเลือดแล้วยังต้องตรวจยืนยันด้วยการทดสอบทางผิวหนัง
การรักษาโรคภูมิแพ้
1. การรักษาด้วยยา ในปัจจุบันนี้ ยารักษาภูมิแพ้มีประสิทธิภาพสูง และสามารถใช้ได้ทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่นทางจมูก
- ยารับประทาน ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (antihistamine) รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูง และออกฤทธิ์ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้ง่วงนอน
- ยาพ่นจมูก ยากลุ่มนี้ได้ผลดีมากเมื่อใช้ต่อเนื่องกัน สามารถลดอาการบวมและอักเสบของเยื่อจมูกได้ดี และลดการเกิดไซนัสอักเสบแทรกซ้อน
2. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ คือการฉีดสารที่แพ้ทีละน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มจำนวนและยืดระยะเวลาออกไปจากทุกอาทิตย์ถึงทุกเดือน ส่วนมากคนที่ฉีดวัคซีนจะสามารถหยุดยาได้หมดหรือลดจำนวนยาลง เมื่อหยุดฉีดแล้วคนส่วนหนึ่งจะไม่กลับมามีอาการอีก และส่วนหนึ่งอาจมีอาการ แต่ระยะเวลาจากหยุดฉีดถึงกลับมีอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคคลและสารที่แพ้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์