Social Distancing ที่เราห่างกัน เพราะเรารักกัน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลก เราอาจจะเห็นคำว่า ‘Social Distancing’ จากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ อยู่บ่อยๆ หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่า Social Distancing นั้นคืออะไร และสำคัญกับสถานการณ์โลกตอนนี้อย่างไรมาติดตามกันได้เลยครับ
Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม
Social Distancing หรือ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้สามารถเข้าใจง่าย ๆ คือการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมถึงการลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้รถไฟฟ้า การไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น และการทำงานอยู่ที่บ้าน
ซึ่งการใช้มาตรการ Social Distancing นั้นไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์การระบาดทั่วโลกหลายในหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งการทำ Social Distancing นั้นได้พิสูจน์ว่ามาตรการป้องกันการระบาดแบบเว้นระยะห่างนั้นมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยทุเลาและลดระดับความรุนแรงของการระบาดได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจึงได้ออกมาตรการ Social Distancing ที่เข้มงวดและครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอิตาลีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางรัฐบาลอิตาลีได้ออกมาตรการ Social Distancing ที่เข้มข้นขึ้น เช่น การห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้าน การเดินทางนั้นสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตจากตำรวจเท่านั้น รวมถึงโรงเรียนโรงภาพยนตร์ และร้านค้าต่าง ๆ ที่ถูกปิดลง ยกเว้นร้านขายของชำและร้านขายยาที่ทางรัฐบาลอนุญาตให้เปิดได้
ในส่วนของทางประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงสาธารณะสุข นั้นได้เริ่มเดินหน้าออกมาตรการ Social Distancing เช่น การสั่งปิดสถานบันเทิงต่าง ๆ ชั่วคราว การปิดห้างสรรพสินค้าชั่วคราวเว้นเฉพาะบริการซื้ออาหารกลับบ้าน ร้านขายยาต่างๆ และการแนะนำให้ประชาชนนั้นรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสขยายวงกว้างในสังคมไทย
ข้อแนะนำในการทำ Social Distancing
1. ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั้น การเว้นระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนที่มีอาการไอหรือจามนั้นควรรักษาความห่างอยู่ที่อย่างน้อย 1 เมตร เพราะไวรัสนั้นสามารถติดต่อได้ผ่านละอองขนาดเล็กที่มาจากการไอหรือจามได้
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสทางด้านร่างกาย เพราะอาจเป็นการนำเชื้อมาสู่ตัวเอง หรือในขณะเดียวกันก็เป็นการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
3. หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน หรือการใช้ขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า ฯลฯ เนื่องจากไวรัส COVID-19 นั้นสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสและละอองขนาดเล็ก
4. การ Work From Home หรือการทำงานที่บ้านก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ ทั้งภายในบริษัทและนอกบริษัทได้
5. การเรียนการสอนผ่านทางช่องทางออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มหาลัยหรือสถานศึกษาต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ได้เพื่อป้องกันการระบาดภายในมหาลัยและห้องเรียน ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่าง ๆ มารองรับการเรียนแบบระยะไกล เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Hangout ฯลฯ
ดังนั้น การที่เราจะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน รวมถึงตัวเราเองที่ต้องคอยป้องกันตัวเอง รวมถึงมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หากมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที เพราะถ้าหากเรารู้เร็ว เราก็จะป้องกันได้เร็วและไม่นำเชื้อไปแพร่ผู้อื่นได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Techsauce, NYTIMES, WHO, STRAITSTIMES, CIDRAP