กองทุน SSF ต่างจาก LTF อย่างไร

กองทุน LTF คืออะไร

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ กองทุน LTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ตัวอย่างกองทุน LTF

  •  KS50LTF เป็นกองทุน LTF ที่เน้นการลงทุนหุ้นตามดัชนี SET50
  •  KMSLTF เป็นกองทุน LTF ที่เน้นการลงทุนหุ้นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีแนวโน้มเติบโตดี
  •  K70LTF เป็นกองทุน LTF ที่เน้นการลงทุนหุ้นไม่เกิน 70% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยส่วนที่เหลือลงทุน ในตราสารหนี้

กองทุน LTF ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ เนื่องจากหุ้นมีโอกาสขาดทุนมากกว่าและหนักกว่าตราสารหนี้ โดยที่

  •    กองทุนแบบ passive (กองทุนดัชนี) จะทำผลตอบแทนล้อตามดัชนีที่อ้างอิง หากดัชนีวิ่งขึ้น ผลตอบแทนของกองทุนก็ขึ้นตาม หากดัชนีวิ่งลง ผลตอบแทนก็ดิ่งลงตาม
  •  กองทุนแบบ active (มีผู้จัดการกองทุน) ผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุน หากได้ผู้จัดการกองทุนฝีมือดี อาจได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตลาด ในทางตรงกันข้าม หากได้ผู้จัดการกองทุนฝีมือไม่ดี อาจได้รับผลตอบแทนด้อยกว่าตลาด

กองทุน LTF ไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อ (รายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละกองทุน) และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี ปีไหนอยากใช้สิทธิลดหย่อนก็ค่อยซื้อได้ แต่ต้องถือครองอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF แบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้

  •  เงินลงทุนในกองทุน LTF สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 500,000 บาท
  •  กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ ยกเว้น กรณีที่ลงทุนเกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินหรือเกิน 500,000 บาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วได้กำไร กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนในส่วนที่เกินมาดังกล่าวจะนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

เป็นที่น่าเสียดายว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF ดังที่กล่าวข้างต้นสิ้นสุดลงแล้วตอนสิ้นปี 2562 แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป กระทรวงการคลังได้ออกกองทุนแบบใหม่มาทดแทนกองทุน LTF ในชื่อ ”กองทุน SSF”

กองทุน SSF คืออะไร

กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund) มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินในระยะยาวโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ นโยบายการลงทุนของกองทุน SSF ไม่จำกัดอยู่เพียงหุ้นไทยเท่านั้น กองทุน SSF สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ดัชนี เป็นต้น โดยต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อแต่ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี กองทุน SSF ไม่กำหนดขั้นต่ำ (รายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละกองทุน) โดยที่คุณสามารถใช้เงินลงทุนในกองทุน SSF หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท (ระยะเวลาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอยู่ที่ปี 2563 – 2567)

การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประกอบด้วย

  •  กองทุน RMF
  •  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  •  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  •  กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  •  กองทุนการออมแห่งชาติ
  •  เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

นอกเหนือจากกองทุน SSF แล้วยังมีกองทุน SSF Extra ที่ออกมาเพื่อช่วยพยุงตลาดหุ้น กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Saving Fund Extra Class) จะคล้ายคลึงกับกองทุน SSF แต่มีความแตกต่างตรงที่นโยบายการลงทุนของกองทุน SSF Extra จะเน้นการลงทุนหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน แถมมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยการหักหย่อนลดภาษีได้สูงสุด 200,000 บาทเป็นพิเศษ ไม่รวมกับกองทุน SSF และการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ

กองทุน SSF Extra สามารถซื้อได้ภายในวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น และสามารถใช้หักลดหย่อนภาษีในปี 2563 เท่านั้น