ลงทุนต่อเดือนเท่าไหร่ดี ให้มีเงินใช้หลังเกษียณ

“ลงทุนต่อเดือนเท่าไหร่ดี ให้มีเงินใช้หลังเกษียณ” เป็นคำถามที่ผู้ต้องการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณอยากรู้ที่สุด

เป็นหัวข้อที่ Blog การเงิน ส่วนใหญ่ต้องเขียน เพื่อแบ่งปันเคล็ดลับออมเงินให้กับสังคม จะได้พบกับอิสระภาพทางการเงินด้วยกัน

คำว่า”มีเงินพอใช้หลังเกษียณ”ในที่นี้ ขอหมายถึง การมีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายหลังจากไม่มีรายได้ประจำจากการทำงาน ซึ่งแต่ละคนจะใช้ไม่เท่ากัน

ก่อนที่จะกำหนดเงินลงทุน เพื่อเตรียมให้ ”มีเงินพอใช้หลังเกษียณ” ต้องถามใจตัวเองว่า

1.คิดว่าจะไม่มีงานประจำทำ หรือ ไม่ทำงานประจำ ตอนอายุเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่ามีเวลาเก็บออมเงินไปลงทุนเหลืออีกกี่ปี

2.จะใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ไหน ในกรุงเทพมหานคร ในหัวเมืองใหญ่ๆ หรือ ในชนบท

3.จะยังชีพด้วยเงิน 100% เพื่อแลกกับทุกสิ่งอันในชีวิตประจำวัน เช่น บ้านก็เช่า ข้าวปลาอาหารก็ซื้อ

หรือ ใช้เงินบางส่วนเพื่อแลกกับบางสิ่งในชีวิตประจำวัน และใช้แรงกายสร้างบางสิ่งในชีวิตประจำวันขึ้นมาเอง เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกข้าว

4.คิดว่าจะมีโอกาสใช้ตังค์อีกกี่ปี เช่นคนอายุ 30 ปี อาจจะมองว่าฉันอาจจะถูกให้ออกจากงานตอนอายุ 50 ปีหรือ จะเลิกทำงานประจำตอนอายุ 50 ปี และคิดว่าตัวเองจะมีอายุ 70 ปี จะมีเวลาใช้เงิน 20 ปี หรือ 240 เดือน

เมื่อตอบใจตัวเองได้แล้ว ก็รู้แล้วว่า

มีเวลาเก็บออมเงินเพื่อนำไปลงทุน 20 ปี

จะรู้ถึงรายจ่ายเฉลี่ยต่อวันหรือค่าครองชีพต่อวันของแต่ละจังหวัดแบบคร่าวๆ พอให้วางแผนการเงินได้ คิดง่ายๆ ก็เอาค่าแรงขั้นต่ำนั่นแหละมาตั้งเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน

ถ้าคิดจะใช้ชีวิตใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 331 บาท

หรือใช้ชีวิตที่ชลบุรี ภูเก็ต ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 346 บาท หรือ ที่ ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุทัยธานี อำนาจเจริญ ค่าแรงขั้นต่ำ 315 บาทต่อวัน

ที่อิงค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่มาตั้งเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน ก็เพราะค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นระดับที่เพียงพอค่าใช้จ่ายจำเป็นขั้นพื้นฐาน(ไม่สะดวกไม่สบายต้องอยู่อย่างประหยัด) ครอบคลุมค่าเดินทางไปทำงาน ค่ากิน ค่าที่พักอาศัย ค่าเสื้อผ้า  แต่ไม่รวมค่ารักษาสุขภาพยามเจ็บป่วย ไม่รวมค่าท่องเที่ยว ค่าภาษีสังคม

กรณีใช้ชีวิตใน 6 จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาท จะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเดือนละ 10,261 บาท หนึ่งปีเป็นเงิน 123,132 บาท ถ้า 20 ปี ก็เป็นเงิน 2,462,640 บาท ย้ำว่า ไม่รวมค่ารักษายามเจ็บป่วย ค่าท่องเที่ยว ค่าภาษีสังคม

 

ต้องการใช้เดือนเท่าไหร่ก็เก็บเท่านั้น

หากคิดว่าหลังเกษียณจะใช้เงินเดือนละ 10,261 บาท ก็เริ่มเก็บเงินเเลยเดือนละ 10,261 บาท ไม่ต้องไปใช้สูตรคำนวณเรื่องผลตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตให้มันยุ่งยาก หรือ ไม่ต้องคิดเรื่องเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นทำให้ค่าเงินในอนาคตลดลงให้เครียดเปล่าๆ

ส่วนผลตอบแทนที่ได้จากเงินเก็บถือว่าเป็นกำไร และพวกเงินเฟ้อที่นักการเงินคิดว่าจะเพิ่มเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้าค่อยไปว่ากันอีกที

ในฐานะที่เกษียณการทำงานแล้วในวัย 50 ปี และปัจจุบันใช้จ่ายเงินเพื่อยังชีพจากเงินเกษียณอยู่ ขอเตือนเสียงดังๆ เลยว่า เงินเก็บออมก้อนนี้ต้องปลอดภัย ถ้าเก็บเดือนละ 10,261 บาท เงินก้อนนี้ต้องยังอยู่ดีมีสุขทุกบาททุกสตางค์ เพราะเมื่อถึงเวลาใช้จะได้พอ

 

นักการเงินจ๋า อาจจะมองว่าขัดแย้งกับทฤษฏีการบริหารเงินออม การบริหารเงินลงทุนอย่างแรง…

เพราะการออมที่ทำให้เงินต้นปลอดภัย คงมีเพียงการฝากเงินกับธนาคาร การซื้อพันธบัตรรัฐบาล การทำประกันชีวิต สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส.ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ผลตอบแทนต่ำมากๆ ไม่สามารถชดเชยเงินเฟ้อในแต่ละปีหรอก มันต้องเอาไปลงทุนในหุ้น ในกองทุนรวม ยิ่งมีเวลาเก็บเงินเป็นสิบ ยี่สิบปี โอกาสกำไรมากกว่าขาดทุน

 

แต่อยากบอกว่า ถ้าเงินที่เราลงทุนขาดทุนขึ้นมา คนที่ต้องเสียใจ…คือเรา

 

คนที่ร้องโอ๊ยยย…ก็คือเรา

 

คนที่ไม่มีเงินใช้..ก็คือเรา

คนที่รับผิดชอบ…ก็คือเรา นะฮ้าๆๆๆๆๆ

 

นี้เป็นประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่เกษียณในวัย 50 เผชิญอยู่ คือ เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ปีนี้เป็นปีที่ 17 …ก็ขาดทุน

 

เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) มาเป็นเวลา 13 ปี…ก็ขาดทุน

 

เงินลงทุนในหุ้น…ก็ขาดทุน

 

ตอนนี้ใช้เงินจากประกันชีวิตสะสมทรัพย์ที่ครบกำหนด ใช้เงินจากการถอนสลากออมสินมาใช้ ใช้เงินจากเอาทองรูปพรรณที่ซื้อไว้ตั้งแต่ราคาบาทละ 15,000-20,000 บาทไปขาย..กำไรอื้อเลย ใช้เงินจากเงินฝากธนาคาร

 

ถ้าเอาไปเก็บไว้ในหุ้น ในกองทุนรวม หรือ ในหุ้น ทั้งหมด คงอดอยากปากแห้งไปแล้ว แม้จะเป็นการลงทุนระยะยาวก็เถอะ

 

เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะมีเหตุการณ์ใดมาทำให้เงินเราหายไป

 

ถึงจะอยู่ในมือของมืออาชีพก็เถอะ

 

ฉะนั้น คิดแบบคนธรรมดา ไม่ต้องใช้ทฤษฎีการบริหารเงินลงทุนตามหลักสากล

 

เอาง่ายๆ อยากใช้เงินเดือนเท่าไหร่ก็เก็บเงินเท่านั้น และ เงินที่จะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณต้องอยู่ดีมีสุข อยู่ครบเต็มจำนวน

 

แยกเงินลงทุนจากเงินที่จะใช้ยามเกษียณ

ส่วนเงินที่จะเอาไปเสี่ยงอย่างมีหลักการ ตามทฤษฏีการบริหารเงินลงทุนตามหลักสากล เอาไปเล่นกับความมหัศจรรย์ของเวลาในการลงทุน เอาไปเสี่ยงกับโอกาสของธุรกิจ เพื่อให้เงินไปผาดโผนโจนทะยาน ทำงานในขณะที่เราหลับ หรือขณะที่เราไม่ได้ทำงาน ควรจะเป็นอีกก้อนหนึ่ง

 

คิดแบบนอกกรอบทฤษฏีการบริหารเงินลงทุน คิดง่ายๆ ถ้าคิดว่ารับความเสี่ยงได้ 20% ของเงินออม 10,261 บาท ก็หาเงินเพิ่ม 2,052.2 บาทต่อเดือน เอาไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ความเสี่ยงสูง ที่มีโอกาสสร้างกำไร หรือ สร้างผลตอบแทนในตลาดทุน ช่วงนี้ราคาเก็บสะสมได้

 

หากเงินทำงานดี มีกำไร คุณก็จะมีเงินใช้มากกว่าเดือนละ 10,261 บาท แต่ถ้าเงินทำงานไม่ดี ขาดทุน ก็จะไม่กระทบกับเงินที่คุณเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ

 

แต่ถ้าใช้เงินก้อนเดียวกันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เพราะไม่อยากพลาดโอกาสในการทำกำไร หวังจะให้เวลาที่ยาวนานสร้างความมหัศจรรย์เรื่องผลตอบแทนให้ เกิดมาเจอสภาพอย่างปัจจุบัน ขาดทุนไปแล้ว 40% คิดแบบไม่ต้องไปคำนวณผลตอบแทนช่วง 20 ปีเพิ่มเข้าแล้วหักเงินเฟ้อออกให้วุ่นวาย คิดจากเงินที่เก็บเดือนละ  10,261 บาทนี้ละ จะเหลือเงินใช้แค่เดือนละ 6,156.6 บาท  ใครเดือดร้อน…ฝากให้คิด