การบริหารจัดการหนี้สินที่ก่อให้เกิดรายได้ ในยุคข้าวยากหมากแพง

วันนี้เราจะมาดูแนวทางใน ‘การบริหารจัดการหนี้สินที่ก่อให้เกิดรายได้ในยุคข้าวยากหมากแพง’ เพื่อเพิ่มรายได้ใหม่ และปกป้องเงินออมเก่าของเราไม่ให้ร่อยหรอ

เพียงแค่เห็นหัวข้อหลายคนอาจจะพูดขึ้นมาว่า จะทำได้อย่างไร มีหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ด้วยเหรอ  มาดูกัน

เริ่มจากการนำหนี้ที่เรามีอยู่ออกมากางออกดูว่า มีหนี้สินอะไรที่ก่อให้เกิดรายได้บ้าง ก็จะมีหนี้ที่เกิดจากการซื้อสังหาริมทรัพย์ที่นับวันจะมีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย

หนี้จากการซื้อบ้าน  

หนี้จากการซื้อคอนโดมิเนี่ยม

หนี้จากการซื้อที่ดิน เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ได้ทรัพย์สินเหล่านี้มาด้วยการกู้เงินซื้อ  โดยทรัพย์สินเหล่านี้สามารถช่วยเราเพิ่มรายได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ การปล่อยเช่าเพื่อหารายได้ในยุคข้าวยากหมากแพง การใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน และการนำที่ดินมาแปลงเป็นพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ปลูกพืชผักสวนครัวหารายได้อีกทางหนึ่งหากใจรัก

กรณีที่เป็นบ้าน ซึ่งเราอาศัยอยู่ สามารถแบ่งห้องที่ว่างให้เช่าเป็นรายปี ราย 6 เดือน แต่ต้องเลือกคนเช่าที่ไว้ใจได้ ต้องมีการสอบประวัติ ดูอาชีพ และพฤติกรรม หรือ จะทำเป็นโฮมเสตย์ รับเฉพาะคนที่รู้จักเข้าพัก หากเป็นบ้านที่อยู่ในย่านชุมชน อาจจะแบ่งพื้นที่หน้าบ้านให้เช่าขายของ หรือ ให้เช่าทำกิจกรรมเป็นครั้งๆ ไป  จะทำให้มีรายได้เข้ามาช่วยลดภาระในการหาเงินไปจ่ายค่างวดบ้านได้

ส่วนคอนโดมิเนียม ถ้าเราอาศัยอยู่เต็มพื้นที่แล้ว สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ อาทิ ยื่นกู้ต่อเติมบ้าน หรือ ซ่อมแซมบ้าน จะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ

หากรายได้ไม่พอกับการผ่อนชำระหนี้บ้าน และหนี้คอนโดมิเนียม ลองไปเจรจาต่อรองยืดอายุการชำระหนี้กับธนาคารออกไป เพื่อจะได้ลดภาระค่างวดลง หรือ ทำการรีไฟแนนซ์ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ก็จะช่วยให้สามารถรักษาบ้านและคอนโดมิเนียมแสนรักไว้อยู่อาศัยในอนาคตและเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกให้หลานได้อีก

ที่ดิน หากยังไม่มีเจตนาจะขาย หรือ ยังขายไม่ได้ แทนที่จะปล่อยไว้เฉยๆ ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ทำใจนำออกมาปล่อยให้เช่า ซึ่งค่าเช่าควรจะเป็นระดับที่พอรับกันได้ ไม่ใช่ตั้งซะสูงจนคนเบือนหน้าหนี

ใครที่กำลังผ่อนงวดรถยนต์อยู่ สมัยนี้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาสร้างรายได้ให้เจ้าของได้ ด้วยการนำไปให้บริการเป็นรถยนต์ร่วมเดินทาง หรือ รับ ส่ง ผู้โดยสาร ในช่วงที่ตัวเองว่างจากงานประจำ เช่น อูเบอร์ แกรบ เป็นต้น หากผ่อนไม่ไหวจริงๆ เพราะรายได้หายไป สามารถนำทะเบียนรถยนต์ไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ หรือที่เรียกว่าจำนำทะเบียนนั่นเอง

สำหรับผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต อาจจะด้วยการชำระเบี้ยด้วยเงินออม หรือ มีการรูดบัตรเครดิตเพื่อซื้อประกันชีวิต ถ้าอายุของกรมธรรม์นานพอ จะเกิดมูลค่าเงินสดขึ้น

หากช่วงนี้ยังผ่อนชำระเบี้ยไม่ไหว มี 2 ทางให้เลือก คือ สามารถใช้มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์นำมาชำระเบี้ยประกันชีวิตได้ หรือใช้กรมธรรม์ขอกู้เงินจากบริษัทประกันชีวิตได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ราวๆ 8% ต่อปี ต่ำกว่าการไปขอกู้เงินจากธนาคาร และ ต่ำกว่าการรูดเงินสดจากบัตรเครดิตเสียอีก และกรมธรรม์ประกันชีวิตของเรายังคงมีผลบังคับ ดูแลและคุ้มครองเราเช่นเดิม

ในยุคข้าวยากหมากแพง ผู้ที่เคยสร้างหนี้สินที่ก่อให้เกิดรายได้ จึงมีความได้เปรียบกว่าผู้ที่สร้างหนี้สินไปกับการกิน เที่ยว เพราะสามารถนำทรัพย์สินเหล่านั้น มาบริหารจัดการให้เกิดรายได้ช่วยเหลือครอบครัวยามฝืดเคืองเช่นในปัจจุบัน