เชื่อว่า ในตอนนี้ทุกคนคงจะพอคุ้นชื่อ “คลับเฮ้าส์” แอปฯ Voice Chatting มาแรงแซงทางโค้งรับต้อนปี 2021 แม้จะพึ่งเปิดตัวไม่นานก็ถูกหยิบไปพูดถึงและติดตั้งใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก (แม้แต่อีลอนมัสก์คนดังระดับโลกยังชวนผู้คนมาใช้งาน) จนกระทั่งส่งให้แอปนี้ก้าวขึ้นสู่การเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคุณถึงควรทำความรู้จักกับ คลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ให้มากขึ้น
คลับเฮ้าส์ (Clubhouse) คืออะไร?
คลับเฮ้าส์ (Clubhouse) เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียรูปแบบที่เน้นการเผยแพร่เสียงได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันภายในแต่ละห้องแบบ Real time โดยที่ไม่มีการใช้คอนเทนต์แบบรูปภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่ข้อความ หากเทียบง่ายๆ ก็คงคล้ายกับการนั่งฟังอาจารย์ในห้องเลคเชอร์ ที่จะมีผู้คุมห้อง(ไม่เกิน 4 คน) สปีคเกอร์หรือผู้พูด(สามารถพูดคุยกันได้นับสิบคน) และผู้ฟังที่สนใจในเรื่องเดียวกับหัวข้อที่สปีคเกอร์จะหยิบยกมาพูดอีกจำนวนหนึ่ง(มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของแต่ละหัวข้อ) แต่การใช้งานยังคงมีข้อจำกัดบางประการ เช่น จะไม่มีการบันทึกสิ่งที่พูดคุยกันไว้ในระบบ (ยกเว้นมีใครแอบจดหรืออัดออกมา), จำกัดจำนวนคนเพียงห้องละ 5,000 แอคเคาท์, รองรับเพียงระบบ IOS (กำลังจะเปิดให้ระบบแอนดรอยด์ได้ใช้งานในเร็วๆ นี้) ฯลฯ
ประวัติของคลับเฮ้าส์ (Clubhouse)
หลายคนที่ได้เห็นกระแสแอปพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ อาจจะคิดว่า แอปฯ นี้คงเปิดตัวมานานแล้วเพียงแต่พึ่งดังแน่นอน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น แอปฯ นี้พึ่งเปิดใช้บริการครั้งแรกเมื่อประมาณมีนาคม 2020 โดยพัฒนาจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ Alpha Exploration Co. มีผู้ใช้งานกลุ่มแรกที่ถูกเชิญให้ทดลองใช้งานเพียง 1,500 คน เท่านั้น จากนั้นก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเรื่อยๆ นับแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2020 แอปฯ นี้ก็เติบโตจนมีมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และก้าวกระโดดขึ้นสู่การเป็นยูนิคอร์นด้วยการส่งมูลค่าขึ้นไปแตะที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มกระแสที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ยังไม่มีทีท่าว่า มูลค่าจะหยุดนิ่งหรือลดลงในเร็วๆ นี้ (ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเกินกว่า 6,000,000 แอคเคาต์)
มูลค่าการลงทุน
ย้อนกลับไปในช่วงตั้งแต่แอปฯ คลับเฮ้าส์ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา ได้เริ่มมีการระดมทุนจนกระทั่ง Paul Davison ได้รับเงินทุนมาจาก Andreessen Horowitz บริษัทร่วมทุนสัญชาติอเมริกัน มีเงินทุนหลัก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทุนสำรองอีก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงว่า Andrew Chen หนึ่งในหุ้นส่วนของ Andreessen Horowitz จะขอเข้าเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของคลับเฮ้าส์ จนกระทั่งมีการเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามาใช้งาน และมีคนดังอย่าง Mark Cuban (คนดังด้านเทคโนโลยี) หรือ Kevin Hart นักแสดงชื่อดังที่การปรากฏตัวของเขาในคลับเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2020 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งคลับเฮาส์ ระหว่าง Andreessen Horowitz และ Benchmark เสนอเงินเพื่อดึงให้คลับเฮ้าส์มาอยู่ในการดูแลของตน ทำให้ขณะนั้นมีการคาดเดาว่า อาจจะสู้กันที่ประมาณ 75-80 ล้านดอลลาร์ หรืออาจขึ้นไปสูงถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็ยังคงเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนดังระดับโลกต่างชักชวนกันเข้ามาใช้งานภายในแอปฯ นี้กันอย่างเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังที่ทำให้ผู้คนแทบจะทั่วโลกหันความสนใจมาหาแอปฯ คลับเฮ้าส์แทบจะทันที
บุคคลดังของไทยที่เล่นคลับเฮ้าส์ (Clubhouse)
เรียกได้ว่า แอปพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ เป็นหนึ่งในแอปฯ ที่ดึงคนดังจากทุกแวดวงการทั่วไทยให้แฟนคลับสามารถเข้าถึงได้ง่าย (ไม่ว่าจะเพียงฟังอย่างเดียวหรือได้ร่วมพูดคุย) มีตั้งแต่ ดาราเซเล็บคนดัง ไปจนถึงอดีตนักการเมืองชื่อดัง ที่ทุกคนต้องรู้จัก โดยวงการบันเทิงมีทั้ง
- นักร้อง เช่น อิ๊งค์ วรันธร, วี วิโอเล็ต, คัตโตะ, นน นนกุล ฯลฯ
- พิธีกรชื่อดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย, วู้ดดี้ วุฒิธร, อั๋น ภูวนาท ฯลฯ นักแสดง เช่น บอย ปกรณ์, โฟกัส จีระกุล, เก้า จิรายุ ฯลฯ
- นักวิชาการด้านการเมืองชื่อดัง เช่น อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ฯลฯ
- อดีตนักการเมืองคนดัง เช่น ทักษิณ ชินวัตร (เรียกเสียงฮือฮาไปได้หลายวันเลยทีเดียว), นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ฯลฯ
- องค์กรยักษ์ใหญ่ เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ
เหตุผลที่คลับเฮ้าส์ได้รับความนิยมในไทย
ต้องยอมรับว่า เหตุผลหนึ่งมาจากกระแสที่คนดังระดับโลก และคนดังในไทยมากมายสนใจที่จะหยิบมาใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนทั่วไป เช่น แฟนคลับ ฯลฯ ซึ่งอาจจะหาโอกาสในชีวิตจริงได้ค่อนข้างยาก ทำให้เข้าถึงกับผู้ที่สนใจในตัวเขาได้มากขึ้นกว่าการลงโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ อีกทั้งลักษณะการทำคอนเทนต์ไม่ยาก เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนซักเครื่อง กับสิ่งที่ตัวเองรู้(เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ) ก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องจัดแสง แต่งตัว นั่งตัดต่อ ฯลฯ อะไรมากนัก ในส่วนมุมมองของผู้ใช้งานก็มองว่า ได้ความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจค่อนข้างสดใหม่ รวมถึงการเป็นรายการสด ไม่มีการบันทึกเก็บไว้ฟังย้อนหลัง ทำให้ผู้ที่สนใจหัวข้อที่จะพูดต่างต้องเข้ามาฟังภายในแอปฯ นี้เท่านั้น แต่ถามว่า จะยังนิยมไปได้อีกนานเหมือนแอปพลิเคชั่นอื่นอย่างเฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรมหรือไม่ ก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไป
หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังสนใจอยากจะทำความรู้จักกับแอปพลิเคชั่น คลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ไม่มากก็น้อย สำหรับใครที่ตอนนี้พอจะรู้จักบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีแอปพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ไว้ติดเครื่องหละก็อาจจะต้องรีบโหลดและหาเพื่อนมาช่วยส่ง invite เพื่อเปิดใช้งานกันซักหน่อย จะได้รู้เหตุผลว่า ทำไมถึงได้เป็นแอปพลิเคชั่นมาแรงรับต้นปี 2021!