ทำไมประเทศอิสราเอลฉีดวัคซีนโควิดเป็นชาติแรกของโลก

หากจะพูดถึงประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโควิด-19 เป็นอันดับหนึ่งของโลกในตอนนี้ คงจะหนีไม่พ้น อิสราเอล ภายหลังจากที่รัฐบาลเร่งหาวัคซีนโควิดจนได้เซ็นต์สัญญากับ Moderna เป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลก รวมถึงติดต่อกับ Pfizer, Astrazeneca และวัคซีนตัวอื่นๆ จนมีสัดส่วนจำนวนวัคซีนสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรภายในประเทศ แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้อิสราเอลก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในการฉีดวัคซีนโควิด อยากรู้ต้องอ่าน!

 

ย้อนเหตุการณ์ เริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิดในอิสราเอล

เมื่อช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างเห็นภาพการสูญเสีย เพราะโควิด-19 ไปไม่น้อย ซึ่งอิสราเอลก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้เห็นภาพเหล่านั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่รัฐบาลอิสราเอลมีวิธีจัดการวัคซีนโควิดตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มจากช่วงมิถุนายน 2020 อิสระเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ได้ร่วมลงนาม เพื่อตกลงซื้อวัคซีนจาก Moderna จากนั้นช่วงพฤศจิกายน 2020 ก็ได้ประกาศว่า ตัดสินใจซื้อวัคซีนจาก Pfizer และ Astrazeneca ซึ่งวัคซีนที่มาถึงอิสราเอลเป็นครั้งแรกคือ Pfizer เมื่อ 9 ธันวาคม และเริ่มฉีด 19 ธันวาคม ในขณะที่ยังรออีก 2 ตัว นับว่า รัฐบาลจัดการได้ไวมาก

ต่อมา นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้เปิดเผยเองว่า หนึ่งในข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและ Pfizer คือ จะให้ข้อมูลประชาชน สำหรับวัคซีน 10 ล้านโดส เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัคซีนโควิด โดยไม่เปิดข้อมูลที่ระบุตัวตนของประชาชนแต่ละคน แลกกับ การจัดส่ง 400,000-700,000 โดสให้ทุกสัปดาห์ ถือเป็นการตัดสินใจที่ไวและเด็ดขาด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างน่าสนใจ

 

สถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิดของอิสราเอล ณ ปัจจุบัน

ลองจินตนาการดูว่า เพียงแค่ 3 สัปดาห์หลังจากได้วัคซีนโควิดล็อตแรก อิสราเอลก็สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนภายในประเทศได้มากกว่า 20% และปัจจุบันก็สามารถจัดการฉีดครบ 2 เข็ม ได้กว่า 5.1 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 56.7% และอีก 8 แสนกว่าราย เป็นผู้ที่น่าจะมีภูมิคุ้มกันจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน เท่ากับว่า จะมีประชากรกว่า 65-70% ที่มีแอนติบอดี พร้อมสู้กับโควิด ซี่งถือว่า ใกล้จะมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” อย่างเต็มตัว

 

เหตุผลที่อิสราเอลฉีดวัคซีนโควิดเป็นชาติแรกของโลก

ด้วยประเทศอิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีเศรษฐกิจดี แต่ขนาดไม่ใหญ่ ประชากรไม่มาก และค่อนข้างใส่ใจในด้านสาธารณสุข เลยทำให้การจัดการหาวัคซีนสามารถทำได้ไวจนเป็นชาติแรกของโลก และเสมือนเป็นต้นแบบด้านการฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย เนื่องจาก..

1) คนน้อยก็ต้องไว!

ยิ่งคนน้อย ยิ่งกดดันให้รัฐบาลต้องจัดการไวขึ้น เพราะประชากรทั้งประเทศมีเพียง 9.053 ล้านคน ในขณะที่ เพียงแค่เดือนเดียวหลังประกาศมาตรการ เพื่อจัดการโควิด-19 ก็พบผู้ติดเชื้อหลักพัน (นับรวมยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด ติดนับแสน เสียชีวิตนับพัน) ทำให้อิสราเอลต้องรีบเร่งหาวัคซีนโควิด ให้ได้เป็นกลุ่มแรก

2) ระบบสาธารณสุขแข็งแกร่ง

ปกติแล้ว อิสราเอลเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งมาก จะเห็นได้จาก ประชาชนทุกคนต้องอยู่ในสังกัดองค์กรดูแลสุขภาพ อย่างน้อย 1 ใน 4 ส่วนการกระจายวัคซีนโควิดเอง ก็จะกระจายผ่าน 4 องค์กรนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้กระจายได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งเคยฉีดได้สูงสุด ถึงขั้น 210,000 รายในวันเดียวเลยล่ะ

3) ทำงานผ่านระบบดิจิทัล

ระบบสาธารณสุข ในส่วนของประกันสุขภาพ Health Maintenance Organization (HMOs) ได้มีการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลดิจิทัล ซึ่งจัดการระบบแบบศูนย์รวม ทำให้ข้อมูลถูกจัดระเบียบ และจัดการเรื่องวัคซีนโควิดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนกล้าที่จะมาฉีดวัคซีนที่รัฐจัดหามาให้

4) ข้อตกลงแลกข้อมูลประชาชนกับวัคซีนโควิด

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า อิสราเอลมีข้อตกลงเรื่องการให้ข้อมูลของประชาชนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวัคซีนโควิด กับ Pfizer จึงเป็นดีลที่ทำให้อิสราเอลได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มประเทศแรก แต่ย้ำว่า ข้อมูลที่ให้ไปไม่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยของประชาชนแต่อย่างใด

5) การขนส่งมีประสิทธิภาพ

ต้องยอมรับว่า หนึ่งในขั้นตอนการกระจายวัคซีนให้ไปถึงมือแต่ละคนได้ไว ต้องมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอิสราเอลก็ได้คิดวิธีการขนส่ง เพื่อกระจายวัคซีนโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ตู้แช่แข็งขนาดใหญ่มาแช่วัคซีนกว่า 5 ล้านโดส จากนั้นจะแบ่งใส่กล่องที่ช่วยรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาวัคซีน แบ่งใส่ประมาณกล่องละ 100 โดส ส่งไปตามศูนย์สุขภาพกว่า 400 แห่ง

6) ความเชื่อใจของประชาชน

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของอิสราเอลจะไม่สามารถขยับตัวเลขไปได้ไวถึงขั้นหลักแสนต่อวันได้ ถ้าประชาชนไม่เชื่อใจและไม่ยินดีให้ฉีด ดังนั้น อีกข้อสำคัญที่ทำให้อิสราเอลฉีดได้ไวเป็นประเทศแรกก็เพราะประชาชนเชื่อใจในข้อมูลที่รัฐบาลมอบให้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน มาตรการต่างๆ หรืออะไรก็ตาม ที่ทำให้เชื่อว่า จะปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19 เช่น เปิดให้ทดสอบแอนติบอดีหลังฉีดวัคซีน, ผู้ที่หายป่วยแล้วหรือฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดสจะได้รับ Green Pass เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้ายิม โรงหนัง เป็นต้น

 

สุดท้ายนี้ แม้อิสราเอลจะเป็นอันดับหนึ่งเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมีการจัดหาและกระจายการฉีดให้ประชาชนได้ไว แต่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยก็ควรจับตามองบทเรียนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะได้จากอิสราเอลกันต่อไป หลังจากเจอเคสเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์จนทำให้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นกว่า 99.5% ภายใน 6 สัปดาห์, ความกังวลใจในข้อมูลของประชาชน (แม้จะไม่ได้ระบุตัวตนก็ตาม) และปัญหาความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาที่อิสราเอล

หากพิจารณาดูแล้ว การฉีดวัคซีนก็คงเหมือนกับการมีประกันสุขภาพ แม้จะไม่รู้อนาคต ว่า จะติดเชื้อไวรัส เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรก็ตาม แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงเรื่องค่าใช้จ่าย อย่าง ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ ได้ไม่น้อย ดังนั้น อย่าลืมหาประกันที่เหมาะกับสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับสิ่งที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอ