ชิปหายไปไหน? วิกฤติ ชิป ขาดแคลนทั้งโลก ปี 2021

จะทำอย่างไร เมื่อทั่วโลกเกิดเหตุการณ์ ชิปหาย! (ไม่ใช่คำอุทานแต่อย่างใด) โดยมีสัญญาณเตือนถึงการขาดแคลนชิปให้เห็นกันตั้งแต่ต้นปี เช่น PlayStation 5s ที่ไม่สามารถสั่งผลิตได้ตามความต้องการของผู้บริโภค, Galaxy Note ตัวใหม่ที่ต้องเลื่อนการเปิดตัวไปก่อน, ฟอร์ด ต้องลดการผลิตลง เป็นต้น จนช่วงมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลากหลายแบรนด์ได้เริ่มออกมาพูดถึง และเรียกร้องให้เร่งกำลังการผลิต ชิป ก่อนจะสายเกินไป ซึ่งในพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีจำนวนบริษัทออกมาพูดถึงปัญหา วิกฤตการขาดชิป นี้เพิ่มขึ้นกว่า 275 แห่งแล้ว

 

ชิป สำคัญอย่างไร?

เชื่อว่า หลายท่านอาจจะยังคงสงสัยว่า ชิป สำคัญยังไง? ทำไมถึงกลายเป็นปัญหาวิกฤตระดับโลกไปได้?

เหตุผลก็เพราะ ชิป (เซมิคอนดักเตอร์) มีความสำคัญต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่รอบตัวทุกคนบนโลกใบนี้ ตั้งแต่ สมาร์ทโฟนที่คุณกำลังถืออยู่ ณ ขณะนี้, คอมพิวเตอร์, โทรทัศน์, กล้องดิจิทัล, เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, วิดีโอเกม, รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องจักรสำคัญ เพื่อควบคุมพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก หากขาดไปอุปกรณ์ต่างๆ ที่ว่านั้นก็ไม่สามารถใช้งานได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ชิปขาดแคลน”

ย้อนกลับไปช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา การระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ตกต่ำในช่วงแรก กว่าร้อยละ 50 เนื่องจากคนเดินทางน้อยลงและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ไม่กล้าที่จะซื้อรถคันใหม่ บริษัทรถยนต์จึงลดการผลิตและลดคำสั่งซื้อชิ้นส่วนลง รวมถึงชิปจำนวนมากด้วย (จากข้อมูลของ IHS Markit พบว่า มีการผลิตรถยนต์น้อยกว่าปกติ 672,000 คันในไตรมาสแรกของปี 2564)

ในขณะเดียวกันก็มีต้องการของใช้จำเป็นสำหรับ work from home เช่น แล็ปท็อป และ สมาร์ทโฟน ฯลฯ อย่างเร่งด่วนโรงงานขนาดใหญ่จึงเปลี่ยนจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มาเป็นชิปสมาร์ทโฟน และอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กลงแทน ซึ่งในความเป็นจริงยอดขายรถยนต์กลับฟื้นตัวไวกว่าที่คิด ทำให้บริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมต่างต่อสู้กัน เพื่อแย่งสั่งซื้อชิปจากโรงงาน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ Huawei และ ZTE ถูกคว่ำบาตร กีดกันไม่ให้มีการซื้อขายชิป ในยุครัฐบาลทรัมป์ จนเกิดการกักตุนชิปเป็นจำนวนมาก ส่งผลถึงจำนวนชิปในตลาดที่ลดลงจนขาดแคลนด้วยเช่นกัน

 

ชิปส่งผลกระทบอย่างไรต่อทั่วโลก?

ปัญหาการขาดแคลนชิปปัจจุบัน ได้กลายเป็นหนึ่งในวิกฤตสำคัญที่ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ไข จากที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า มีบริษัทกว่า 275 ราย ที่พบปัญหาจนต้องออกมาพูดถึง ซึ่งลองจินตนาการเล่นๆ กันดูว่า เพียงแค่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราคุ้นชื่อ อย่าง Samsung ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของเกาหลีที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิปเองด้วย ยังพบปัญหาขาดแคลนชิป แล้วบริษัทระดับโลกที่เหลืออย่าง Ford และ GM ผู้ผลิตยานยนต์, Sony, Apple และอื่นๆ ที่เจอปัญหาไม่ต่างกัน ผลที่จะเกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากชิปขาดแคลนก็คือ..

1) ภาคผู้ผลิตได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงแต่ต้องเลื่อนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายจากผู้บริโภค แต่ยังเกิดปัญหาไม่สามารถหาชิปมาผลิตสินค้าที่มีได้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จนอาจส่งผลกระทบต่อกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นตามไปด้วย เช่น Sony ที่ผลิตตัวเครื่อง PlayStation ไม่เพียงพอตามความต้องการ ค่ายเกมเองก็มีปัญหากับยอดขายตามไปด้วย เป็นต้น

2) ราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้น

เรื่องปกติที่คุณจะพบเจอ เมื่อของที่ต้องการขายมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อ แน่นอนว่า จะต้องเกิดการแย่งซื้อชิปจากผู้ผลิต และผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้น้อยลง จะทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ที่มีชิปเป็นส่วนประกอบมีราคาพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคอย่างพวกเราเองก็จะต้องจ่ายแพงขึ้นด้วย อย่างน้อย 1-3% จนกว่า อุปสงค์และอุปทานจะสมดุลกัน

3) อุตสาหกรรมต่างๆ เสียรายได้นับพันล้าน

แม้แต่ Apple เองยังกล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตขาดแคลนชิป จะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้เฉพาะไตรมาสนี้ไปประมาณ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากกระทบต่อการผลิตไอแพดและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแมค หากนับรวมบริษัทอื่นๆ อีก แทบไม่ต้องพูดถึงเลยว่า สูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่?

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็อาจได้รับผลกระทบและส่งผลให้มีราคาสูงขึ้นตามได้ จากการที่เครื่องจักรต่างๆ ขาดตลาด อย่างสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร-เครื่องดื่มที่ผลิตโดยโรงงาน ฯลฯ

 

แนวโน้มชิปขาดแคลนจะดีขึ้นเมื่อไหร่?

นักวิเคราะห์หลายราย เชื่อว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปีกว่าที่การผลิตจะเริ่มกลับมาเป็นปกติ มีจำนวนผลิตชิปจะสมดุลกับความต้องการ และกว่า 6 เดือน ถึงจะมีจำนวนชิปที่สต็อกตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ได้มีแผนการอัดฉีดเงินกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเร่งเพิ่มกำลังการผลิตชิปให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป

 

ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคทั่วไปอย่างเราที่ตกใจ แต่ผู้ประกอบการของบริษัทระดับโลกต่างก็ตกใจ เพราะไม่เคยพบกับสถานการณ์นี้มาก่อนเช่นกัน แต่ก็นับว่า โชคดีที่รัฐบาลต่างชาติ ได้สนับสนุนการแก้ไขให้แก่เอกชนเป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ผู้บริโภคอย่างเราเองก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อเหมือนวิกฤตขาดแคลนชิปได้เช่นกัน ดังนั้น อย่าลืมเตรียมพร้อมรับมือทุกครั้ง ด้วยการหาประกันดีๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคุณได้โดนใจในปี 2021 นี้กัน!