วางแผนการเงิน ไปพร้อมกับเรื่องภาษี เป็นเรื่องที่ต้องทำคู่กันไป จะช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น เพราะทั้งเรื่องเงินและเรื่องภาษีคือส่วนหนึ่งในชีวิต
หลายคนมีทัศนคติที่ไม่ดีกับภาษี จึงมองเห็นแต่ด้านลบ ถ้ามองดีๆ ภาษี สามารถช่วยเราวางแผนการเงินในระยะยาวได้ดีมากๆ ตัวหนึ่ง
กฎหมายมีการกำหนดเรื่องการนำภาษีมาเป็นเครื่องมือช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเราหลายด้านมากๆ ครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงในชีวิต และการดูแลสุขภาพ
ในด้านค่าใช้จ่าย อาทิ การซื้อบ้าน สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาลดหย่อนภาษีได้ การบริจาคเพื่อการศึกษา การบริจาคอื่นๆ การบริจาคเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง การเลี้ยงดู พ่อแม่ ลูก สามี ภรรยา ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
รวมถึงด้านการออม ทั้งในประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ก็สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ทุกปีที่เราออม
การที่กฎหมายกำหนดสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ครอบคลุมทั้งด้านการใช้จ่าย การบริจาค การออม เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีความมั่นคงทางการเงิน
เรียกว่า win win กันทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งตัวเราที่จ่ายภาษีน้อยลง ภาคธุรกิจขายบริการทางการเงินได้มากขึ้น และประเทศมีความมั่นคง เพราะถ้าประชาชนมั่งคั่ง ภาระในการจัดสรรงบประมาณมาดูแลประชาชนก็จะลดลง
ก่อนจะสิ้นปีภาษี 2564 เหลือเวลาอีกเพียงแค่เดือนครึ่งเท่านั้น รีบใช้ประโยชน์จากสิทธิภาษีในการนำมาวางแผนการเงินกันให้เต็มสิทธิไปเลย
สำหรับ เครื่องมือการวางแผนการเงินไปพร้อมกับเรื่องภาษี มีให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะการวางแผนการเงินระยะยาว เพื่อการเกษียณ ที่กฎหมายส่งเสริมให้เราออม จะได้สามารถดูแลตัวเองได้เมื่อเกษียณ และช่วยลดภาระของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน เครื่องมือแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) ที่นายจ้างจะสมทบให้เราตั้งแต่ 2-15% ส่วนเรามารถออมเงินในกองทุน PVD ได้สูงถึง 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี
กองทุน PVD จะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) เป็นผู้บริหารเงินออมของเรา โดยผู้จัดการกองทุนพร้อมทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน จะคัดเลือกกองทุนที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เหมาะกับระดับความเสี่ยงของเรา นำมาให้เราเลือกลงทุน ซึ่งจะมีตั้งแต่ระดับเสี่ยงสูงถึงเสี่ยงต่ำ มีทั้งลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยเราจะได้รับเงินก้อนนี้คืน ในกรณี เกษียณอายุการทำงาน อายุครบ 55 ปี หรือ โอนย้ายกองทุน หรือ เสียชีวิต ถ้าออกจากงานก่อนอายุครบ 55 ปี ต้องนำรายได้ก้อนนี้ไปเสียภาษีคืนประเทศ เพราะถือว่าทำผิดเงื่อนไข
ทั้งนี้ กฎหมายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการออมเงินไว้กับกองทุน PVD โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี และเมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เท่ากับว่า กองทุน PVD มีผู้ร่วมออมเงินถึง 3 ฝ่าย คือ เรา นายจ้าง และรัฐบาล ในส่วนของรัฐบาลจะอยู่ในรูปของการให้เรานำเงินออมไปขอลดหย่อนภาษีตามฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เราจ่ายในแต่ละปี เมื่อได้ภาษีคืนมาแล้ว ก็นำไปออมเพิ่ม จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ เช่น การซื้อประกันชีวิตสะสมทรัพย์ หรือ ประกันสุขภาพ
ขอแนะนำว่า ให้ออมเงินในกองทุน PVD เต็มเพดาน 15% ไปเลย เพราะมันจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีเงินล้านได้เร็วที่สุด เพราะเป็นช่องทางการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณที่มีวินัยที่สุด โดยเงินจะถูกหักจากบัญชีเงินเดือนเข้ากองทุน PVD อัติโนมัติทุกๆ เดือน
ส่วนมนุษย์เงินเดือน ที่บริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถใช้กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) มาวางแผนการเงิน ไปพร้อมกับเรื่องภาษีได้เช่นกัน
กองทุน RMF มีขายทุกบลจ. ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบบลจ.ไหน ก็เดินไปบลจ.นั้น แจ้งความประสงค์ ประเมินความเสี่ยง เลือกกองทุนที่จะลงทุน ง่ายมากๆ ใช้เวลาไม่นาน
ลักษณะการทำงานของกองทุน RMF โดยหลักๆ คือ ต้องลงทุนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และถือครบอายุ 55 ปี จึงจะสามารถนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี
กฎหมายให้เรานำเงินลงทุนในกองทุน RMF ไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี เมื่อรวมกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุน RMF จะมีผู้จัดการกองทุนเข้ามาบริหาร เหมือนกับกองทุน PVD โดยการนำเงินออมของเราไปลงทุนตามความเสี่ยงที่เรารับได้ ซึ่งเราสามารถลงทุนด้วยวิธีการหักเงินในบัญชีเข้ากองทุนทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน หรือสามารถซื้อเป็นครั้งๆ เมื่อเราสะดวกก็ได้ หรือ เมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนระยะ 10 ปี ที่ให้สิทธิทางภาษี นั่นคือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) โดยรัฐฯได้ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุน PVD กองทุน RMF ประกันบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุน SSF เหมาะกับการนำมาวางแผนการเงินระยะปานกลาง เช่น ผู้เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ วัย 22 อาจตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะซื้อบ้าน หรือจะซื้อรถ หรือ จะแต่งงาน การใช้กองทุน SSF มาเป็นเครื่องมือการออมจะเหมาะกับเวลาที่วางแผนไว้ แต่ต้องเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่สูงหน่อย เพื่อรักษาเงินต้นให้คงอยู่
นอกจากนี้ ด้านของการบริหารความเสี่ยงในชีวิต
การซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นทางเลือกที่ครอบคลุมด้านความคุ้มครองชีวิต และด้านการออม กฎหมายกำหนดให้นำเบี้ยประกันไปขอลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี แต่ไม่เกินปีละ 200,000 บาท
กฎหมายยังส่งเสริมให้ประชาชน ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และประกันสุขภาพด้วย โดยให้สิทธินำเบี้ยประกันทั้งคู่รวมกันไปขอลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ในเมื่อกฎหมายนำเรื่องของภาษีมาเป็นเครื่องมือช่วยเราบริหารค่าใช้จ่าย และ ส่งเสริมการออมในระยะยาวมากมายขนาดนี้ จึงควรใช้สิทธิให้คุ้มค่า ด้วยการวางแผนการเงิน ไปพร้อมกับเรื่องภาษี เพื่อดูแลสุขภาพทางการเงินให้มั่นคง ดั่งคำกล่าวที่ว่า ถ้าประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติก็มั่นคง
#PLA
#PhillipLife
#PhillipLifeTh
#YourPartnerForLife